* Art Horizon of Suchart Sawasdsri * โลกศิลปะของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี

บล็อกนี้แฟนคลับสร้างเป็นเกียรติแก่คุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี – ผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรมแห่งตำนานโลกหนังสือและช่อการะเกด

121 Classic Literature

121 Classic Literature เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, สำนักพิมพ์สมมติ

121 ไรเตอร์ส

สุชาติ สวัสดิ์ศรี พูดถึงอาจารย์ป๋วยในสารคดี

March-P1030618

นิตยสารสารคดี ฉบับพิเศษ 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ้งภากรณ์ ฉบับที่ 372, เดือนกุมภาพันธ์ 2559

ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 7

puay-- su

ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 7
“ปฏิทินแห่งความรื่นรมย์: ชีวิตทางวัฒนธรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์”
โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
19 ตุลาคมนี้ 2558

วรรณกรรมร่วมสมัยของไทยในจุดหักเห จาก “ปีศาจ” , ‘ความเงียบ’ และ “คำพิพากษา”

วรรณกรรมร่วมสมัยของไทยในจุดหักเห งานวิจัยฉบับนี้วิเคราะห์ผลงานจาก “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์, ‘ความเงียบ’ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ “คำพิพากษา” ของ ชาติ กอบจิตติ

Suchart-Chart

รายละเอียดในลิงค์ : http://kyotoreview.org/issue-8-9/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1/

เสียงเงียบจากริมทางรถไฟ

เสียงเงียบจากริมทางรถไฟ

z-P1020889

สุชาติ สวัสดิ์ศรี

นิตยสารสารคดี, กรกฎาคม 2558

สุชาติ สวัสดิ์ศรี: นักคิด นักเขียน และ บก. Too Old to Dream at 70 ?

Suchart Sawadsri: Too Old to Dream at 70 ?

สุชาติ สวัสดิ์ศรี: นักคิด นักเขียน และ บก.

Too old to dream at 70 ?

โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

sancho 70

สุชาติ สวัสดิ์ศรี เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนา 2488 (ระกาไก่) เป็นคนอยุธยา เขาเกิดปีที่สงครามโลก ครั้งที่ 2 กำลังจะสิ้นสุดลงในเอเชีย อีกหนึ่งเดือนครึ่งต่อมา อเมริกาก็ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกลงถล่มญี่ปุ่น วันที่ 15 สิงหา จักรพรรดิ์ญีปุ่นก็ประกาศยอมแพ้ อีก 1 วันต่อมา ฯพณฯปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ มธก. หัวหน้าขบวนการเสรีไทย และ ผู้สำเร็จราชการฯ แทนพระองค์ในหลวง ร. 8 ก็ประกาศสันติภาพ พลิกสถานการณ์ไม่ให้ไทย ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงคราม

เมื่อสุชาติเติบใหญ่ อายุ 17 เขาเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี 2505 (ธรรมศาสตร์กลายเป็น มหาวิทยาลัยปิดมาได้ 3 ปี) เขาเป็นทั้งศิลปศาสตร์รุ่นแรก และ เอกประวัติศาสตร์รุ่นแรก เขาเกือบจะต้องเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ แต่โชคชะตาวิถีชีวิต ทำให้เขากลายเป็นทั้งนักคิด นักเขียน และที่สำคัญ คือ เป็น บก. เขาเป็น บก.ที่จะต้องจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ คือ บก. วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ระหว่างปี 2512 ถึงหลัง 6 ตุลา 2519 อันเป็นช่วงที่ผมจะรู้จัก ชายหนุ่มเครางามนาม สุชาติ

ผมเกิดพฤษภา 2484 (มะเส็งงูเล็ก) เป็นคนบ้านโป่ง ราชบุรี ผมเกิดปีญี่ปุ่นบุกเมืองไทย และอุษาคเนย์ เมื่อเติบใหญ่ อายุ 18 ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ (ที่กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดในปี 2502 นั้น) ผมเป็นรัฐศาสตร์รุ่น 12 เอกการทูต เราอยู่ธรรมศาสตร์ช่วงเดียวกัน 2 ปี ผมอยู่กับแวดวงที่เป็น “สายลม แสงแดด และยูงทอง” ในขณะที่สุชาติเริ่ม “แสวงหาความหมาย” แต่ผมก็ไม่รู้จักสุชาติหรอก ผมเรียนจบ ทำงานราชการอยู่ไม่ถึงปี ก็ได้ทุนไป “ชุบตัว” เมืองนอก ไปอยู่คาลิฟอร์เนียและนิวยอร์คเสีย 7 ปี ระหว่าง 2508-2516 (1965-1973)

อเมริกายุค 1960s-70s ทำให้ผมเริ่มแสวงหาความหมาย กลายเป็นนักอ่านโดยไม่รู้ตัว ติดตามข่าวสังคมการเมืองโลกกว้าง ของยุคบุปผาชน ของการต่อต้านสงครามอินโดจีน ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันทางชนชาติ (ผิวดำ ผิวขาว) สุชาติกับผม กลายเป็น pen-pals กัน เขาเขียนจดหมายถึงผม ผมเขียนจดหมายถึงเขา ผมเล่าเรื่องราวที่ผมเห็นจากกิจกรรมของนักศึกษา การเดินขบวนประท้วงสงคราม ประท้วงประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผาบัตรประจำตัว ปฏิเสธที่จะเป็นคนอเมริกันแบบ “รุ่นเก่า” ครับ เมืองไทยของสุชาติยุคนั้น ก็มี เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับสุชาติ และคนที่เราอาจจะรู้จักกันดี คือ “คนเดือนตุลา/ตุลา” เราสัมผัสกันได้ด้วย “จดหมาย” ที่เขียนด้วบลายมือ ที่ใช้เวลาเดินทางเป็นสัปดาห์ จากแถวๆท่าพระจันทร์/สามย่าน ถึงอิธากะ

ช่วงหนึ่งผมได้ “แวบ” กลับมาเยี่ยมบ้าน เมื่อปี 2511 ปีที่มีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ฉบับที่ใช้เวลาร่างถึง 10 ปี ผมจำได้ว่า สุชาติและนักเขียนหนุ่มเหน้าสาวสวยรุ่นนั้น ชวนให้ไปชนบท ไปเสวนาปัญหาสังคม เราไปกาญจนบุรีกัน แน่นอน คนรุ่นก่อนหน้าเรา ก็คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์นั่นแหละ ก็อยู่ในวงสนทนาด้วย ผมจำได้ว่า เราไม่ค่อยสนใจเรื่องผ้าม่วง หรืออะไรที่อนุรักษ์ๆ ของสุลักษณ์นัก (ผมยังล้อคุณสุลักษณ์มาถึง ทุกวันนี้ว่า ‘โจง’ เป็นคำเขมร แปลว่า ผูก และ ‘กะเบน’ ก็เป็นคำเขมรอีก แปลว่า หาง ตกลง ‘โจงกะเบน’ เป็นการนุ่งผ้าผูกหางแบบเขมร แล้วไทยยืมมาใช้ นานจนลืม และทึกทักว่าแสนจะเป็น “ไทย”)

เรามักจะคุยกันเรื่องปัญหาการเมือง แต่การเมืองของเรามีประวัติศาสตร์ (มากกว่ารัฐศาสตร์) การเมืองของเรามีวรรณกรรม มีหนังสือ เข้ามาเกี่ยวด้วย เราถูกคอกัน ก็ด้วยเรื่องเหล่านี้แหละ ผมจำได้ว่า เคยไปที่บ้านสุชาติ ที่แถวๆ ดอนเมือง เขามีหนังสือเต็มบ้าน ใส่ตู้เก่าๆ ไว้ก็เยอะ แทบจะแหวกหาที่นอนไม่ได้ (ช่วงนั้นสุชาติ ยังกางมุ้งนอนอยู่) หนังสือเหล่านั้น ถูกน้ำท่วมสูญสลายไปหมดเมื่อปี 2554 นี่เอง

ช่วงระหว่าง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 ช่วงระยะเวลาสั้นๆ 3 ปีสำคัญนั้น สุชาติ เป็น บก. สังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารที่โด่งดัง ที่เปลี่ยนบุคคลิกลักษณะจาก liberal conservative ของสุลักษณ์ กลายมาเป็น progressive new-left ตามสไตล์ของสุชาติ ในยุคที่บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร อันเป็นผลพวงมาจากรัฐประหาร (ถนอม ยึดอำนาจถนอม) ในปี 2514 บก. สุชาติ ได้นำเรื่องทั้งทหารกับการเมืองไทย CIA การวิจัยหรือจารกรรม ทั้งสงครามอินโดจีน ทั้งจีนแดง/เหมาเจ๋อตง รวมทั้งการเริ่มขุดค้นนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ หรือ “นายผี” “นายสาง” ออกมาอย่างแนบเนียน

สุชาติ ได้ทำให้ผมกลายเป็น บก. ร่วมกับเขา เราช่วยกันทำหนังสือฉบับกระเป๋า ที่กลายเป็นหมายหมุดทางประวัติศาสต์ นั่นก็คือ “ปรัชญาประวัติศาสตร์” (พิมพ์ 3 ครั้ง 2518, 2519, 2527) กับ “ประวัติศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ไทย” (2519) และก็สุชาติ นั่นแหละ ที่ผลักดันให้ผมแปล “ปรัชญาประวัติศาสตร์ในสงครามและสันติภาพ” ของลีโอ ตอลสตอย ครับ ผมมีอาชีพเสริมในการเป็น บก. ก็จากการคบหาสมาคมกับ สุชาติ นี่แหละ (เหมือนๆ กับอีกสองนักเขียน ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผม คือ เสถียร จันทิมาธร กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อไหมทั้งสามคนที่เอ่ยนามมานี้ ได้รับรางวัล “ศรีบูรพา” กันมาตามลำดับ คือ สุจิตต์ 2536 สุชาติ 2540 เสถียร 2544 สร้างความหงุดหงิด ฤษยา ให้กับผมไม่น้อย จนตัวเองได้สมใจ ก็เมื่อปี 2552 หลังสาม บก. นั้นเป็นตั้งทศวรรษ)

ในแง่ของผม งาน บก.ของสุชาติ ที่ยอดเยี่ยม และเป็นหมุดหมายอย่างดี คือ ชุด 4 เล่มรวมเรื่องสั้น (short stories) ที่เริ่มออกมาในยาม “หน้าสิ่ว หน้าขวาน” 2518 ตามลำดับดังนี้ “แล้งเข็ญ-ถนนที่นำไปสู่ความตาย-เหมือนอย่างไม่เคย-คำขานรับ” ทั้ง 4 เล่มนี้แหละ ที่ความเป็น บก. ของสุชาติ ฉายแสงสดใส และสองในสี่เล่มนี้ได้รับเกียรติโดน “แบน” หลังอาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 2519

หนังสือทั้งสี่เล่มนี้ สร้างความบันดาลใจให้ Ben Anderson เมื่อต้องโยกย้ายการทำงานวิชาการจากอินโดนีเซียมาไทย เขาคัดเรื่องสั้นจำนวนหนึ่ง นำไปแปลออกเป็น In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era (1985) ที่นำเสนอพร้อมด้วย “คำนำ” ยอดเยี่ยม (แต่ก็เชื่อได้ว่า นักวรรณกรรมไทยๆ ไม่ได้อ่าน)

หลังรัฐประหาร และ อาชญากรรมรัฐ พวกเราก็แตกกระสานซ่านเซ็น ไปคนละทิศละทาง สุชาติ กบดานอยู่ในกรุงฯ เขาถูกคณาจารย์ผู้บริหารสมาคมสังคมศาสตร์ฯ ผู้ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม ยื่น “ซองขาว” ปลดออกจากตำแหน่ง (กลุ่มคณาจารย์เหล่านั้น พยายามฟื้นวารสารฯ ขึ้นมารอบแล้วรอบเล่า แต่ก็ไม่สำเร็จ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้เดินเข้าสู่ดินแดน ของประวัติศาสตร์และตำนาน ที่ต้องจดจำไว้ในแผ่นดินนี้ พร้อมด้วยชื่อของสุลักษณ์ และ สุชาติ แต่คงไม่มีใครนึกชื่อ คณาจารย์เหล่านั้นได้เลย)

ปี 2520 สุชาติ กลับมาเป็น บก. ใหม่ได้อีก เขาผลิตงาน “น้ำดี” กับวารสาร “โลกหนังสือ” ที่ต้องให้เครดิตกับ คุณสุข สูงสว่าง แห่งร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ดวงกมล สยามสแควส์ ที่ยืนหยัดยอมขาดทุนอยู่จนถึงปี 2526 ครับ วารสารประเภทนี้ หากไม่มีรัฐ มหาวิทยาลัย หรือ มูลนิธิฯ ให้เงินสนับสนุน ก็ไม่มีทางอยู่รอดได้ดอก (ประสบการณ์ของผมในการดูแล มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2509 บอกว่า ปราศจากความสนับสนุนจากร๊อคกีเฟลเลอร์ในระยะแรก กับ โตโยต้า (ญี่ปุ่น และ ไทย) ในระยะหลัง ก็คงไม่รอดมาจนถึงทุกวันนี้)

การกลับมาของสุชาติ ในยุค 1980s ถึงกับมีปรมาจารย์ทางด้านไทยศึกษา นามกระเดื่องอย่าง Yoneo Ishii ไปเยี่ยมเยียนเขาถึงที่ ดวงกมล และไม่ช้าไม่นาน ในยุคที่ อุษาคเนย์ศึกษา (Southeast Asian Studies) จะเริ่มติดปีกบินในแผ่นดินไทย ทั้งสุชาติ และผม ก็ได้รับความสนับสนุนจากโตโยต้า ญี่ปุ่น (โดยเฉพาะจากหญิงเก่ง Kazue Iwamoto) ให้ท่องอุษาคเนย์ ทำความรู้จักเพื่อนบ้านในพม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เราไปจนถึงบรูไน เราได้พบและสัมภาษณ์นักวิชาการ นักเขียนใหญ่ๆ แม้กระทั่งคนระดับ Pramoedya Ananta Toer (1925-2006) และนี่ก็เป็นที่มาของการที่สุชาติ เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้มีการแปลวรรณกรรมเอกของไทยเป็นญี่ปุ่น ของญี่ปุ่นเป็นไทย อย่าง สี่แผ่นดิน-ปีศาจ-จดหมายจากเมืองไทย ฯลฯ (และของญี่ปุ่นเป็นไทย เช่น ยี่สิบสี่ดวงตา-เมียหมอ)

สุชาติ ก็คงเหมือนๆ กับคนรุ่นก่อนและหลัง “คนเดือนตุลา” ที่ไม่ธรรมดา คนรุ่นนี้ มาจากทั่วทุกสารทิศ มาพร้อมด้วยความฝัน อุดมการณ์ ที่จะเห็นสังคมที่ดี เป็นธรรม เห็นคนเป็นคน แต่คนรุ่นนี้ ก็แตกกระสานซ่านเซ็น หลายคน (ดูจากรายชื่อนักเขียนเรื่องสั้นทั้ง 4 เล่มที่กล่าวมาแล้ว ก็มีจำนวนกว่า 100 คน) ทำให้เราคิดไม่ออกว่า “40 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก” เขาและเธอนั้น “เป็นไปได้ถึงเพียงนั้น” แหละหรือ อะไรเล่า ที่ทำให้คนเราเปลี่ยนไป (หรือเอาเข้าจริง ไม่ได้เปลี่ยนเลยก็ได้)

หลายคนพยายามจะให้คำตอบว่า “เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน” อายุขัย เฒ่าชะแรแก่ชรา ก็เป็นอย่างนี้ นี่แหละ หรือไม่ก็ ด้วยครอบครัว ด้วยผัว ด้วยเมีย ด้วยลูก ก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว คนรุ่นนี้ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังเยาว์ ยังเขลา และทึ่ง ยังไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เลย ไม่เหมือน ณ ปัจจุบัน ทุกวันนี้ ที่อย่าพูดถึงเพียงผลประโยชน์เป็นเงินล้าน แต่ต้องพูดถึงร้อย หรือพันล้านด้วยซ้ำไป ดังนั้น เขาและเธอ ก็หาใช่คนเดิมๆไม่ ยิ่งอยู่นาน ก๋ยิ่งเพิ่มพูน ทั้งอายุและทรัพยสฤงคาร ทั้งยังมีอคติ และ อวิชชา เพิ่มเข้ามาอีก ดังนั้น too old to dream นั่นแล

แปลก ที่สุชาติ ยังยืนต้านพายุอยู่ได้ ในวัย 70 เขายังสามารถที่จะ dream what he used to dream (ผ่านเฟสบุ๊ค พร้อมๆกับทำงานวาดเขียน) ได้อย่างน่าประหลาดใจ เขาและศรีภริยา “ศรีดาวเรือง” กับลูกชาย/โมน ดูเป็นคนธรรมดาๆ อยู่ข้างๆบ้าน ข้างตรอก ข้างซอย ที่คนจำนวนมากก็อาจจะไม่ทราบว่า ทั้งสอง “แต่งงานในทัศนะใหม่” อย่างแท้จริง อย่างไม่มีพิธีรีตอง สุชาตินั้น น่าจะต่างกับ “ปัญญาชน” (ที่มีปริญญาอย่างน้อย ก็ตรี) ของคนรุ่นนั้น ที่ไม่ได้ marry up แต่ marry down ด้วยซ้ำไป

ศรีดาวเรือง ผู้ภริยาเป็นผู้ใช้แรงงาน การศึกษาน้อย แต่เธอก็เป็นนักเขียน “รางวัลศรีบูรพา” ปี 2557 เธอและเขา คงร่วมด้วยช่วยกันประคองตัวให้ผ่านพ้นมาได้โดยที่ไม่เป็น “เรือล่ม เมื่อจอด และตาบอด เมื่อแก่” เหมือนหลายต่อหลายคนในรุ่นเดียวกัน และปรากฎชื่อในฐานะนักเขียนเรื่องสั้นในทั้ง 4 เล่มข้างล่างนี้

Happy Birthday ครับสุชาติ ทั้ง 24 และ 27 มิถุนา ก็เป็นวันดี เป็นศรีวัน ครับ

cK@HongKongCityU27June2015

 

หมายเหตุ

ภาคผนวก รวมเรื่องสั้น 4 เล่ม พร้อมรายชื่อนักเขียนรุ่นเดือนตุลา/ตุลา

รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย

แล้งเข็ญ,

ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย,

เหมือนอย่างไม่เคย,

คำขานรับ (4เล่มชุด)

บรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี

พิมพ์ครั้งที่ 1

ปีที่พิมพ์ พ.ศ.2518,2518,2519,2519

สำนักพิมพ์ ดวงกมล

 

รายละเอียดเพิ่มเติม:

เล่ม๑ ชุดชนบท แล้งเข็ญ -100หนังสือดี 14 ตุลา-

ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหนังสือ 100 หนังสือดี 14 ตุลา

ประกอบด้วยเรื่องสั้นร่วมสั้นของไทย 32 เรื่อง ดังนี้

 

-ส้มป่อยดอกเหลือง โดย ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ

-เบื่อ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

-ทากชีวิต โดย มนุชญ์ วัฒนโกเมร

-หน้าที่ โดย สุภาพ นิลไพรัช

-การตอบแทน โดย ตุลยเทพ สุวรรณจินดา

-ภาระหน้าที่ โดย บัณฑิต ชุ่มนิกาย

-มิติที่สี่ของบาป โดย ภักดี ริมมากุลทรัพย์

-คนบนต้นไม้ โดย นิคม รายยวา

-แล้งเข็ญ โดย สุรชัย จันทิมาธร

-ตั๋วเดินทาง โดย ประเสริฐ สว่างเกษม

-บุญทิ้ง โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

-คนโซ โดย วีรวัฒน์ วงศ์พัวพันธุ์

-คนของทะเล โดย นัน บางนรา

-ครูประชาบาล โดย ประเสริฐ จันดำ

-แหลมตะลุมพุก โดย มนัส สัตยารักษ์

-ฟ้าเปลี่ยนสีที่ซองด็อท โดย มงคล วัชรางค์กูล

-เพลงป่า โดย พิษณุ ศุภ

-ในห้วงนึก โดย ศรีศักดิ์ นพรัตน์

-คืนวันหนึ่ง โดย วิชัย โชควิวัฒน์

-ช่วงถี่ช่วงห่างของลุงเหมือน โดย สิทธิชัย ธาดานิติ

-ไปเรี่ยไร โดย นิมิตร ภูมิถาวร

-ยาย โดย มน. เมธี

-หน้าแล้ง โดย ไพรสินธ์ ทองประเสริฐ

-กลับบ้าน โดย ชัชวาล นิลประยูร

-บทกวีของรอหีม มะหมาด โดย มกุฏ อรดี

-ความตั้งใจ โดย มานพ ถนอมศรี

-เพลงศพช่อดอกไม้ โดย พิบูลศักดิ์ ละครพล

-เรายังไม่ชนะดอกหรือ พ่อ โดย สมคิด สิงสง

-สิ่งที่หลงเหลือ โดย บัณฑูร กลั่นขจร

-คนกล้า โดย สำเริง คำพะอุ

-คนสีเหลือง โดย นิเวศ กันไทยราษฎร์

-นาน้ำฟ้า โดย สถาพร ศรีสัจจัง

 

เล่ม๒ ชุดเมือง ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย

ประกอบด้วยเรื่องสั้นร่วมสั้นของไทย 39 เรื่อง อาทิ

 

-อารยธรรม โดย เกริกไกร จีระแพทย์

-นางสาวไทยรอบสุดท้าย โดย อนุช อาภาภิรมย์

-พระช่วย? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

-ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย โดย วิทยากร เชียงกูล

-รถไฟเด็กเล่น โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี

-ในที่สุด โดย เสถียร จันทิมาธร

-เขากับแผลที่ข้อเท้า โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย

-คืนหนึ่ง โดย อารมณ์ พงศ์พงัน

-อาชญากรรมเพื่อชีวิต โดย บุญส่ง ชเลธร

-ค่ำคืนอันโหดร้ายในวันว่างเปล่า โดย วิสา คัญทัพ

-ความในใจของกระดูกจรเข้ โดย วัฒน์ วรรลยางกูร

-วันหนึ่งผมจะฆ่าคนทั้งโลก โดย อุดร ทองน้อย

-กรอบหน้าต่าง โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ

 

เล่ม๓ ชุดเด็กกับโรงเรียน เหมือนอย่างไม่เคย *หนังสือต้องห้าม*

เหมือนอย่างไม่เคย เป็นหนึ่งในรายชื่อหนังสือต้องห้ามของ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง”กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง” เมื่อยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

เหมือนอย่างไม่เคย เป็นการรวมเรื่องสั้นที่เน้นเกี่ยวกับเรื่อง เด็ก และ โรงเรียน เป็นหลัก ประกอบด้วยเรื่องสั้น 27 เรื่องแบ่งตามหมวด ได้สองหมวดคือ

ภาคเด็ก อาทิ

-เหมือนอย่างไม่เคยโดยวิทยากร เชียงกูล

-เจ้าแกละโดย มานพ แก้วสนิท

-หนูแหวนกับเจ้าทุย โดย ศราวก

-พ่อ โดย ศรีดาวเรือง

 

ภาคโรงเรียน อาทิ

-ชัยรัตน์ ครูขอโทษ โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ

-ขออย่ารู้เลย โดย นิคม รายยวา

-การเดินทางครั้งที่สอง โดย แพรวพรรณ อุดมธนะธีระ

-อีกนานสักเท่าไร โดย สิทธิชัย ธาดานิติ

-ถนนสายที่ตรงไปข้างหน้า โดย สันติ รักประชา

-เหยื่อ โดย สถาพร ศรีสัจจัง ฯลฯ

 

เล่ม๔ ชุดมหาวิทยาลัย คำขานรับ

ประกอบด้วยเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย รวม 37 เรื่อง อาทิ

-แรมกลับบ้าน โดย ร.บุษยากรณ์

-รั้วสี โดย อนุช อาภาภิรม

-ก่อง ดอนตะโก โดย พงษ์ศักดิ์ พยัคฆ์

-ไอรีน-ภาษาและน้ำตา โดย ธัญญา ผลอนันต์

-บันทึกแห่งความว่างเปล่า โดย โกมล คีมทอง

-ฉันกับคนคนนั้น โดย สุทธิชัย หยุ่น

-ความเงียบ โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี

-ลม ฝน ต้นไม้ และ คน โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

-ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานเย็น โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

-ทิศทางของชีวิต โดย เฉลิมศักดิ์ รงคผลิน

-โลกกว้างใต้กระดองเต่า โดย มานพ ถนอมศรี

-มิชิแกนเทสต์ โดย วาณิช จรุงกิจอนันต์

-เด็กหญิงคนนั้นกับการปฏิวัติ โดย วิสา คัญทัพ

-สังเวยมนุษย์ โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา

-ชั่วโมงนั้น โดย เทพศิริ สุขโสภา

-โลหิตุปบาท โดย นิวัติ กองเพียร

-ก่อนถึงดวงดาว โดย วัฒน์ วรรลยางกูร ฯลฯ

สุขสันต์วันเกิดครบรอบ 70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี

70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี

suchart-So Sivarak

สุชาติ สวัสดิ์ศรี กับ ศ. ศิวรักษ์

70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี

วรรณกรรม ศิลปะ และอารมณ์ขัน

27 มิถุนายน 2558

สวนเงินมีมา

suchart 70-board

ในงานมีการเสวนาโดยนักเขียน นักวิชาการ และบรรณาธิการรุ่นใหม่มานำเสนอผลงาน
14.00-15.00 น.
ร.จันทพิมพะ กับ’ผู้หญิงอย่างเดียว’ ปลายสมัยรัชกาลที่ 8
ไอดา อรุณวงศ์
15.00-16.00 น.
อาเศียรวาทสดุดี: จิตวิญญาณของศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9
ธนาวิ โชติประดิษฐ
16.00-17.00 น.
ศิลปะในการพูดความจริงกับอำนาจ (ที่ไม่ศิวิไลซ์)
ประจักษ์ ก้องกีรติ

พร้อมด้วยละครเพลง “กระทะทองแดง”

(ขอขอบคุณภาพ สุชาติ สวัสดิ์ศรี กับ ศ. ศิวรักษ์ของ Manus Klaeovigkit)

บางตอนจากนิยายสั้น”เด็กบินได้”

เด็กดี ?
เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด
เด็กบิน

บางตอนจากนิยายสั้น”เด็กบินได้”
โดย “ศรีดาวเรือง”
พิมพ์ครั้งแรก : สำนักพิมพ์กำแพง พ.ศ.2532
………………………..

“เล่นอะไรดี กูว่าเล่นเกมคนกันดีมั้ย ? ”
“เออ..ดี กูเล่นด้วย”
“กูด้วย”
…………………………
คนอะไร
คนไท
ไทอะไร
ไทกอ
กออะไร
กอไก่
ไก่อะไร
ไก่ฟ้า
ฟ้าอะไร
ฟ้าแลบ
แลบอะไร
แลบลิ้น
ลิ้นอะไร
ลิ้นชัก
ชักอะไร
ชักว่าว
ว่าวอะไร
ว่าวจุลา
จุลาอะไร
จุลาลงกลอน
กลอนอะไร
กลอนประตู
ประตูอะไร
ประตุบ้าน
บ้านอะไร
บ้านคน
คนอะไร
คนไท
ไทอะไร
ไทกอ
……………

สุชาติ สวัสดิ์ศรี – ปราบดา หยุ่น ร่วมเวทีเสวนา “เพราะเป็นเด็ก จึงเจ็บปวด”

ชมวิดีทัศน์ >> เป็นเด็กจึงเจ็บปวด (รายการคัดข่าวดี)

สัปดาห์หนังสือปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “เด็กดี ?” ซึ่งเป็น “เด็กดี ที่มีเครื่องหมายคำถาม ตามหลังคำว่า ดี” เพื่อสื่อถึงการตั้งคำถามว่า “เด็กดี ดีได้อย่างไร ดีเพราะอะไร” เชื่อมโยงกับนิทรรศการไฮไลท์ของงานปีนี้ ที่ให้ชื่อว่า “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” ที่ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม,กรมศิลปากรและกระทรวงวัฒนธรรม

ซึ่งนิทรรศการจะนำเสนอตัวอย่างบางส่วนของหนังสือและถ้อยคำที่สะท้อนความจริงในวัยเด็ก ที่จะช่วยเปิดโลกและกระตุ้นจินตนาการของเด็ก อย่างเช่นเรื่อง ตำราของแม่, เมื่อวัยเด็ก WHEN I WAS YOUNG แลไปข้างหน้า, เจ้าชายน้อย, คือรักและหวัง, เมื่อเรายังเด็ก, เหมือนอย่างไม่เคย, ปรัชญาชีวิต, บึงหญ้าป่าใหญ่, หยดหนึ่ง ของกาลเวลา จากแยงซีเกียงถึงเจ้าพระยา

จากแนวคิด “เด็กดีตามด้วยเครื่องหมายคำถาม” จึงมีการเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “เพราะเป็นเด็ก จึงเจ็บปวด ” จากจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, ปราบดา หยุ่น อุปนายกสมาคมฯ และประธานจัดนิทรรศการ “เพราะเป็นเด็ก จึงเจ็บปวด” และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เป็นผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้

ซึ่งเรื่องราวที่ถ่ายทอดบนเวทีเสวนา ได้พยายามสะท้อนให้เห็นถึง มุมมองต่าง ๆ รอบตัวเด็กและเยาวชน ที่มักจะเป็นผู้ที่ถูกกระทำจากสังคมและผู้ใหญ่ ตลอดจนคนในครอบครัว ซึ่งอาจมาในมุมความหวังดี แต่กลับสร้างปัญหาให้กับเด็กทั้งกายและใจ

หลังสะท้อนปัญหาที่ผู้ใหญ่อาจมองไม่เห็นแล้ว เวทีเสวนายังได้พูดถึงการสร้างโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ด้วย นั่นคือ การที่เด็กๆหันมาอ่านหนังสือ ซึ่งถือเป็นการสร้างโลกใบใหม่ ที่สามารถสร้างได้ทั้งจินตนาการและคลายความทุกข์ความเศร้าได้ เพราะการปลูกฝังเด็กๆนอกจากคนรอบตัวแล้ว หนังสือแต่ละเล่มก็จะมีมุมคิดที่แตกต่างกัน รวมถึงคำพูดที่สอนใจให้กับเด็กได้ไม่ต่างจากคำพูด

Post Navigation