* Art Horizon of Suchart Sawasdsri * โลกศิลปะของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี

บล็อกนี้แฟนคลับสร้างเป็นเกียรติแก่คุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี – ผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรมแห่งตำนานโลกหนังสือและช่อการะเกด

นิยายวิทยาศาสตร์ แนวเรื่อง “เวลา” และ “การเดินทางไปกับเวลา” ตอน 1

(หมายเหตุ : ใครอยากอ่านตอน 2 กรุณาแสดงความคิดเห็น)

ปรัชญาประวัติศาสตร์และปรัชญาวิทยาศาสตร์
เกี่ยวกับ “เวลา”

คำนำจากบรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
(จากหนังสือ “ห้องอนาคต” รวมเรื่องสั้นนิยายวิทยาศาสตร์, สำนักพิมพ์ดวงกมล พฤษภาคม 2524)

เวลาคืออะไร ไม่มีใครรู้ นั่นหมายความว่า เวลาอาจจะมีแต่ไม่มีใครรู้จัก หรือ “เวลา” อาจจะไม่มีก็ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม โดยฐานะทางกายภาพ “เวลา” ที่คนเราในโลกรู้จักกันทั่วไปนั้น ก็คืออาการเคลื่อนไหวของโลก เช่นเวลา 1 ปี คืออาการที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบโดยประมาณ และจากเวลา 1 ปีนี้ เราก็อาจจะแบ่งออกเป็นเวลาย่อยๆ ได้มากมาย เช่น 1 เดือน 1 วัน 1 ชั่วโมง 1 นาที 1 วินาที ซึ่งทั้งนี้อาจจะใช้แบ่งโดยตามใจเรา หรือโดยอาศัยโลกเป็นหลักได้ทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้น เวลาจึงเป็นแต่เพียงสิ่งที่มนุษย์ในสังคมกำหนดขึ้นโดยอาศัยการเคลื่อนไหวของโลกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี มนุษย์ในฐานะคนเพียงคนเดียว ก็หาได้ใช้ “เวลา” เหมือน “เวลา” ที่สังคมใช้ทุกอย่างก็หาไม่ ดังเช่นเราจะมองเห็นได้ว่า เวลา 1 ชั่วโมงสำหรับคนสองคนอาจมีความยาวนานผิดกัน

เบอทรันด์ รัสเซลล์ เคยกล่าวเปรียบเทียบ “ความรู้สึกล่วงเวลา” ของคนสองคนไว้ในหนังสือ ปัญหาปรัชญา ของเขาตอนหนึ่งว่า
“… เกี่ยวกับการวัดเวลา เราทราบกันอยู่แล้วว่า ความรู้สึกเร็วนาน หรือความรู้สึกว่าเวลาล่วงไป จะใช้วัดเวลาแทนนาฬิกาไม่ได้เลย ขณะที่เราเบื่อหน่าย หรือกำลังเจ็บปวด เวลาดูเหมือนจะล่วงไปช้ามาก ตรงข้ามกับขณะที่เราสนุกสนาน เวลาช่างผ่านไปเร็วอย่างไม่รู้ตัว ส่วนเวลาหลับ ดูเหมือนเกือบจะไม่มีการล่วงเวลาเอาเสียเลย ดังนั้นเวลาซึ่งวัดกันด้วย การล่วงเวลา นั้น จำเป็นต้องแยกเป็นเวลาสากล และเวลาส่วนตัว…”

หรือแม้แต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เมื่อจะอธิบายความรู้สึกเรื่อง “เวลาสัมพันธ์” เพื่อจะอธิบายทฤษฎีของเขา ก็ได้ยกตัวอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับ “ความรู้สึกล่วงเวลา” ของคนสองคนมาเปรียบเทียบกัน กล่าวคือ ความรู้สึกในเวลา 1 ชั่วโมงของหนุ่มสาวที่กำลังพลอดรักกัน เวลาดูช่างผ่านไปรวดเร็วเหมือนเท่ากับ 1 นาที แต่สำหรับนักโทษประหาร หรือคนที่กำลังนั่งอยู่บนเตาร้อน เวลา 1 นาทีของเขา ดูรู้สึกช่างเนิ่นนานราวกับ 1 ชั่วโมง

ความรู้สึกเรื่องเวลา ความสำนึกเกี่ยวกับอดีต หรือการบันทึกความสำคัญของอดีต ระหว่างคนโบราณกับคนปัจจุบันก็ดูจะผิดแผกกัน ความสำคัญของคนโบราณมักจะเป็นสิ่งเกี่ยวกับลัทธิศาสนา และความเชื่อต่างๆ อย่างแยกกันไม่ออก ความรู้สึกเรื่องเวลาและการวัดเวลา ถ้าเป็นสังคมขนาดเล็ก ก็ยังไม่เจริญซับซ้อนมากนัก ส่วนใหญ่ถ้าเป็นสังคมเกษตรกรรม ความรู้สึกเรื่องเวลาของคนทั่วไปในสังคมนั้นๆ มักจะสะท้อนให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลมาจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและภูมิศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ อย่างที่เรียกกันว่า “เวลาทางนิเวศน์วิทยา” (Ecological Time) ก็มีการแบ่งเวลาออกเป็นฤดูกาลต่างๆ เช่น ฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูเพาะปลูก หรือฤดูเก็บเกี่ยว เป็นต้น การเพาะปลูกหรือการเก็บเกี่ยวก็อาศัยธรรมชาติ คือฝนหรือแม่น้ำลำคลอง ตลอดจนกิจกรรมทางการเพาะปลูกเป็นเครื่องวัด หน่วยเวลาที่ใหญ่ที่สุดก็คงเป็นการวัด หรือการนับเวลาทางถือเอาข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์มาเป็นเกณฑ์ หรือหน่วยเวลาที่ใช้วัดในสังคมขนาดเล็กอีกประการหนึ่งก็อาจถือเอาสิ่งที่เรียกว่า “เวลาทางโครงสร้าง” (Structural Time) มาเป็นเกณฑ์ คือถือเอาการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของแต่ละบุคคล หรือกลุ่มบุคคล มาเป็นหลักพิจารณาเหตุการณ์ในชีวิตของพวกเขาที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา อย่างเช่น การเกิด การตาย หรือการผ่านพิธีทางศาสนา เช่น การบวชทำให้บุคคลเปลี่ยนฐานะทางสังคมสูงขึ้นเป็นต้น

ในแง่ของอดีต นักประวัติศาสตร์ก็ได้นำเวลาที่สังคมกำหนดขึ้น มาใช้เพื่อช่วยให้การศึกษาอดีตเป็นที่เข้าใจกันได้ง่ายขึ้น การที่นักประวัติศาสตร์กำหนดวันเวลา และศักราชลงไปกำกับเหตุการณ์ต่างๆ นั้น ก็เพื่อช่วยจัดระบบของเหตุการณ์ให้เห็นลำดับของมันง่ายขึ้นเท่านั้น แต่โดยแท้จริงแล้ว “เหตุการณ์” กับ “เวลา” ในแง่ของนักประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลย เหตุการณ์เรื่องหนึ่ง หรืออีกร้อยเรื่องก็ได้ หาได้เป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวของโลกไม่ การที่เราพูดว่า สมัยกลางในยุโรปนั้นกินเวลา 1 พันปี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้เวลาถึง 1 พันปีถึงจะทำให้มนุษย์เปลี่ยนระบบการปกครอง สังคม วิถีความคิด ฯลฯ มาเป็นแบบศตวรรษที่ 16 ได้ แต่หมายความว่าจะต้องมีเหตุการณ์จำนวนหนึ่ง ซึ่ง “เผอิญ” กินเวลาประมาณ 1 พันปี มนุษย์จึงได้ก้าวเข้าสู่สภาพของศตวรรษที่ 16 ตรงกันข้ามกับสมัยศตวรรษที่ 16-18 นั้น ถึงแม้ว่าจะมีเวลาเพียง 200 ปี แต่โฉมหน้าของยุโรปก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปมากเสียกว่าเหตุการณ์ที่เคยผ่านมาแล้วเป็นเวลา 1,000 ปี ในสมัยกลาง ดังนั้นเวลา 200 ปีของสมัยศตวรรษที่ 16-18 จึงเป็น “เวลาทางประวัติศาสตร์” (Historical Time) ที่ยาวกว่า 1,000 ปีของสมัยกลาง สรุปก็คือ ความยาวนานของ “เวลาทางประวัติศาสตร์” ย่อมขึ้นกับเหตุการณ์เป็นสำคัญ ถ้าเหตุการณ์มากก็เท่ากับว่าโลกเราเคลื่อนไหวไปเป็นระยะทางไกล คือมีเวลามาก เหตุที่เป็นดังนี้ก็เนื่องมาจากประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่สัมพันธ์กับเวลา ดังตัวอย่าง “เวลาทางประวัติศาสตร์” เรื่องสมัยกลางกับสมัยศตวรรษที่ 16-18 ดังนั้นประวัติศาสตร์จึงเป็นขบวนการของเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบันตลอดไปจนถึงอนาคต ที่ไม่อาจแยกออกได้จากกันโดยเด็ดขาดด้วยเลขศักราช ถ้ากล่าวโดยโวหาร เราก็อาจจะพูดได้ทำนองว่า ถ้าจักรวรรดิโรมัน เพิ่งล่มสลายเมื่อคืนวานนี้ ในวินาทีนี้ โลกเราก็จะเป็นอยู่อย่างที่ “กำลังเป็นอยู่” ขณะนี้ เพราะเหตุการณ์ทั้งหลายจะกำเนิดขึ้นสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุเป็นผลต่อกันไม่หยุดหย่อน จนเวลาย่างเข้าสู่ภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทันที ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เวลาของโลกไม่ใช่เป็นปัญหาสำคัญในทางประวัติศาสตร์เลย หากแต่เหตุการณ์ต่างหากที่จะเป็นปัญหาสำคัญ

“เวลา” ทางวิทยาศาสตร์กับทฤษฎีสัมพัทธภาพ

ตรงกันข้าม ในแง่ของ “เวลาทางวิทยาศาสตร์” (Scientific Time) ก็มีการมอง “เวลา” ไปอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ” (Special Theory of Relativity) และ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป” (General Theory of Relativity) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ปฏิวัติการตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับ “เวลาทางวิทยาศาสตร์” ใหม่หมด โดยมิติของเวลาทางวิทยาศาสตร์ได้ล่วงพ้นไปจากโลกทางกายภาพทั้งมวล กล่าวคือ เวลาไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปด้วยความสม่ำเสมอเท่ากันทุกแห่งในเอกภพ เวลา ณ จุดใดก็ตามจะขึ้นอยู่กับแกนอ้างอิงนั้นๆ เช่น สภาพเวลาบนยานอวกาศที่มีความเร็วใกล้แสง ช่วงเวลาบนยานอวกาศจะยืดออกทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในยานอวกาศช้าลง ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาบนข้อมือของมนุษย์อวกาศ อาการเต้นของหัวใจ กระบวนการทางชีววิทยา หรือแม้แต่อัตราการแก่ของเขา ก็จะช้าตามไปด้วย

ปรากฏการณ์ของ “เวลาทางวิทยาศาสตร์” อาจแสดงตัวอย่างให้เห็นชัดโดยเปรียบเทียบฝาแฝด 2 คน อายุ 20 ปีเท่ากัน ฝาแฝดคนพี่อยู่บนโลก ฝาแฝดคนน้องอยู่บนยานอวกาศและให้ยานอวกาศออกเดินทางด้วยความเร็วเท่าแสง สมมติ เวลาบนโลกผ่านไป 40 ปี ตามหลัก “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ” ของไอน์สไตน์ เวลาบนยานอวกาศก็ยังคงมีค่าเท่ากับยานอวกาศเริ่มออกจากโลกเมื่อ 40 ปีล่วงมาแล้ว แต่เมื่อฝาแฝดคนน้องกลับมายังโลก เขาไม่รู้ว่าเขาไปไหนมา หากรู้แต่ว่าเวลาบนโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ในความคิดของเขา เขาคิดว่า เขาถูกจับอยู่ใน ยานเวลา ซึ่งพาเขาโดดข้ามเวลาไปในอนาคตได้ถึง 40 ปี แล้วกลับลงมาพบคู่ฝาแฝดของเขาที่มีอายุ 60 ปีในอนาคต โดยที่ตัวเขาเองมีอายุเพียง 20 ปีกับอีกไม่กี่นาที แต่ฝาแฝดคนพี่เองคงไม่คิดเช่นนั้น และยืนยันว่าน้องชายได้หายไปในอวกาศด้วย “ความเร็วเท่าแสง” เป็นเวลาล่วงมา 40 ปีแล้ว

ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าหากฝาแฝดคนน้องไม่เชื่อ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ” ของไอน์สไตน์และยืนกรานในยานอวกาศพาเขากลับสู่อดีต ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ด้วยทฤษฎีของไอน์สไตน์ การกลับสู่อดีต ยานอวกาศนั้นก็จะต้องวิ่งด้วยความเร็วมากกว่าแสง ใช้และปรากฏการณ์บนยานอวกาศที่ความเร็วขนาดนั้น นาฬิกาก็จะเริ่มเดินถอยหลัง ซึ่งหมายถึงว่า กระบวนการทุกอย่างทางชีววิทยาจะถอยหลังกลับกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าอายุเรา 20 ปี เดินทางไปในยานอวกาศที่มีความเร็วมากกว่าแสง อายุของเราก็จะน้อยลงเรื่อยๆ เป็น 19,18,17… จนกระทั่งกลายเป็นเด็กทารกคลานต้วมเตี้ยมอยู่ในอวกาศ ถ้าขบวนการ “เร็วกว่าแสง” ยังไม่หยุดยั้ง เด็กทารกคนนั้นก็อาจจะกลับไปจุติในครรภ์มารดาใหม่ ซึ่งขัดกับสามัญสำนึก มหัศจรรย์เกินกว่าที่เราจะยอมรับได้ แต่หากเรื่องราวต่างๆ ดังกล่าวใน “นิยายวิทยาศาสตร์” จะมีปรากฏให้เราอ่านกันเสมอในรูปความคิดเกี่ยวกับ ยานเวลา (Time Machine) และ การเดินทางไปกับเวลา (Time Travel) จินตนาการทาง “นิยายวิทยาศาสตร์” ดังกล่าวนี้

คิดว่าคุณคงยังจำตอนใกล้จบจากภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey ของอาร์เธอร์ ซี คล้าก ที่แสตนเลย์ คูบริค นำไปสร้างได้… ตอนใกล้จบที่ยานอวกาศพาพระเอกเข้าสู่บรรยากาศของดาวเสาร์ด้วยความเร็วสูงมากนั้น ภาพบนจอได้ปรากฏให้เราเห็นแสงสีประหลาด และกระบวนการทางชีววิทยาแปลกๆ ที่ทำให้คนดูแลตะลึงด้วยความพิศวงต่อ “มิติใหม่” บนโลกใหม่แห่งนั้น หลายคนบ่นว่า “ดูไม่เห็นรู้เรื่อง” อะไรกันแน่… เดี๋ยวมีคนแก่นอนใกล้จะตาย เดี๋ยวมีภาพคล้ายเด็กทารกลอยอยู่ใน “ครรภ์อวกาศ” ภาพบนจอที่แสตนเลย์ คูบริค แสดงให้เราเห็นนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ทว่ามันก็เร้าใจให้เกิด “จินตนาการทางวิทยาศาสตร์” ว่าด้วย “เวลาและอวกาศ” ตามตัวอย่าง “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ” ของไอน์สไตน์ดังที่กล่าวมา และได้ก่อให้เกิด “ภาวะพิศวง” (Sense of Wonder) ไปต่างๆ นานา ทั้งในทางที่อาจเป็นไปได้ และในทางที่ขัดกับเหตุผลของสามัญสำนึกโดยทั่วไป

นี่คือจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ผลงานประเภท “นิยายวิทยาศาสตร์” ได้ก่อผลสะเทือนให้เกิดขึ้นทางอ้อม แม้จะดูไร้เหตุผลที่สามารถอธิบายได้ แต่มันก็เป็นจินตนาการที่ไม่จำกัดกาลเวลา ซึ่งดูเหมือนมีคำอธิบายอยู่ข้างหน้า

การเดินทางไปกับเวลา
ใน “นิยายวิทยาศาสตร์”

แนวเรื่อง “การเดินทางไปกับเวลา” ในนิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเป็นไปได้หรือไม่ ดูเหมือนนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ จะเข้าใจกันดีว่า ค่อนข้างจะ “ผิดหลัก” (anomaly) เอาการอยู่ เพราะไม่เคยมีหลักฐานปรากฏว่ามีใครเคยเดินทางไปกับเวลา และไม่มีหลักฐานทางทฤษฎีมากพอที่สามารถจะทำให้เชื่อว่ามีผู้เดินทางไปกับเวลาได้ตามใจประสงค์ เพราะโดยสามัญสำนึกแล้ว… เป็นไปไม่ได้… ที่คนเราสามารถจะเปลี่ยนอดีต หรือจัดสภาพความเป็นจริงในอดีตที่เกิดขึ้นแล้วเสียใหม่ อย่างไรก็ตาม แนวเรื่อง “การเดินทางไปกับเวลา” ดูเหมือนจะเป็นแนวเรื่องของ “นิยายวิทยาศาสตร์” ที่มีผู้นิยมเขียนกันมากที่สุด แม้ว่ารูปแบบที่เขียนส่วนหนึ่งจะออกมาในเชิง ”แฟนตาซี” (Fantasy) แต่ก็มีหลักบางอย่างที่ชวนให้คิดถึง “ความเป็นไปได้” ในอีกลักษณะหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากไอน์สไตน์ได้ค้นพบ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ เมื่อ ค.ศ. 1905 และได้ขยายความต่อมาเป็น ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เมื่อ ค.ศ. 1961 ทำให้แนวเรื่อง “การเดินทางไปกับเวลา” ในนิยายวิทยาศาสตร์ได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งคนเขียนและคนอ่าน โดยดูเหมือนว่า “น่าจะเป็นไปได้” หรือยั่วเย้าให้น่าติดตามอย่างมีหลักการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเพราะก่อนปี ค.ศ.1905 เรื่องของ อวกาศ (Space) หรือ “การวัดตำแหน่ง” กับเรื่องของ เวลา (Time) เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์และคนทั่วไปเข้าใจว่า แยกออกจากกันและไม่สัมพันธ์กันแต่อย่างใด แต่เมื่อ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ” ของไอน์สไตน์ถูกค้นพบ และไอน์สไตน์ได้เสนอความเห็นใหม่ว่า “อวกาศ” หรือการวัดตำแหน่ง และ “เวลา” เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างลึกซึ้ง แยกไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของมิติ 4 มิติ ที่สัมพันธ์กัน โดยมีมิติของตำแหน่งกว้าง-ยาว-สูง อยู่ 3 มิติพร้อมกับมี มิติของเวลา อีก 1 มิติ… เป็นมิติที่ 4 จากการค้นพบของไอน์สไตน์ดังกล่าว ได้ทำให้แนวเรื่อง “การเดินทางไปกับเวลา” ในนิยายวิทยาศาสตร์ มีลักษณะล่วงพ้นออกจากการเขียนในเชิง “แฟนตาซี”และเริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักการของ “นิยายวิทยาศาสตร์” อีกแนวหนึ่ง ที่มีผู้นิยมเขียน นิยมอ่าน กันอย่างกว้างขวาง ถัดมาจากแนวเรื่องว่าด้วย “หุ่นยนต์” และ “ดินแดนต่างดาว”

อย่างไรก็ตาม แนวเรื่อง “การเดินทางไปกับเวลา” ก็มิใช่ของใหม่แต่ประการใด เนื่องจากมนุษย์เรานั้นผูกพันอยู่กับเวลามาโดยตลอดตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความฝัน ความหวัง หรือความกลัว มนุษย์ล้วนมีความผูกพันอยู่กับ “เวลา” ทั้งในอดีตและปัจจุบัน การเดินทางไปกับความทรงจำ (Memory Travel) ไม่ว่าจะ เฝ้าฝัน ถึง “เวลาที่ผ่านเลย” ของเหตุการณ์ในอดีต หรือจะ ใฝ่ฝัน ถึง “เวลาที่ยังมาไม่ถึง” ของเหตุการณ์ในอนาคต การเดินทางไปกับความทรงจำทั้ง 2 ประการดังกล่าวต่างก็เป็นกลวิธีอันเก่าแก่ของมนุษยชาติที่ไม่เคยจำกัดเชื้อชาติและภาษาและเป็นความงอกงามทางจินตนาการที่ปรากฎให้เราเห็นได้เสมอในผลงานทางวรรณคดีทั้งโบราณและปัจจุบัน อาทิเช่น “พระมาลัย” ใน ไตรภูมิพระร่วง “ต้นปาริชาติ” และการระลึกชาติใน กามนิต – วาสิฏฐี “ผี” ที่ปรากฎตัวในบทละครเรื่อง Hamlet ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เสนอให้ผู้อ่านรับรู้การเดินทางไปกับ “ความทรงจำ” อันทุกข์ทนของแฮมเล็ต อีเบเนเซอร์ สกูร์จ มหาเศรษฐีขี้เหนียว ตัวละครเอกในนวนิยายเรื่อง A Christmas Carol (1843) ของชาร์ล ดิกเกนส์ ที่เดินทางย้อนกลับไปดูอดีตของตนเองด้วยการชี้นำของ “วิญญาณแห่งความเมตตา” และเดินทางไปดูหลุมฝังศพของตนในอนาคตด้วยการชักพาของ “วิญญาณแห่งบาป” แนวความคิดดังกล่าวของชาร์ล ดิกเกนส์ หรือ “ต้นปาริชาติ” ใน กามนิต – วาสิฎฐี หากกล่าวไปแล้วก็คือแนวเรื่องยุคโบราณว่าด้วย “การเดินทางในเนื้อหาใหม่” ไปกับเวลาของนิยายวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันนั่นเอง

ความเป็นมาของแนวเรื่อง “การเดินทางไปกับเวลา” ในนิยายวิทยาศาสตร์

โดยความเป็นมา ผลงานเรื่องแรกเกี่ยวกับ “การเดินทางไปกับเวลา” ประวัตินิยายวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตก ได้ยกให้กับผลงานของ “นักเขียนนิรนาม” ชาวอังกฤษ ผู้เขียนผลงานเรื่อง Missing One’s Coach มาตั้งแต่ ค.ศ.1838 โดยเล่าถึงการพลัดหลงกลับไปสู่อดีตในคริสตศวรรษที่ 8 ลักษณะการเขียนเป็นไปในเชิง “แฟนตาซี” ซึ่งมิได้เล่าให้ชัดเจนว่า การพลัดหลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวที่ “ศัพท์วงการนิยายวิทยาศาสตร์” เรียกขานกันในสมัยต่อมาว่า Time Warp นั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร

นับจากผลงานของนักเขียนนิรนามคนนั้นอีก 5 ปีต่อมา เอดการ์ อัลแลน โพ นักเขียนยุคโรแมนติคชาวอเมริกันก็เขียนผลงานเรื่อง A Tale of the Ragged Mountain (1943) เล่าถึงการเดินทางกลับสู่อดีตในปี 1780 ด้วยวิธีการอันเป็นผลเนื่องมาจากตัวละครในเรื่องติดมอร์ฟีนเกินขนาด (เอดการ์ อัลแลน โพ ในชีวิตจริงก็เคยใช้ยาเสพติด) ผลงานของเอดการ์ อัลแลน โพ เรื่องนี้เป็นไปในแง่ “แฟนตาซี” ของอาการทางประสาทหลอน แต่วงการก็จัดให้เป็นแนวเรื่องว่าด้วย “การเดินทางไปกับเวลา” ในยุคแรกเช่นกัน

การหากลวิธี “เดินทางไปกับเวลา” ก่อนหน้าจะมีความคิดเรื่องยานเวลา เกิดขึ้นอีกวิธีหนึ่งก็คือ การนอนหลับ ซึ่งต่อมากลวิธีข้อนี้ นักเขียน “นิยายวิทยาศาสตร์” ในปัจจุบันได้นำมาใช้กับวิธีที่เรียกว่า ครายโอยีนิกส์ (Cryogenics) หรือเทคนิค “การแช่เย็น” คนในอุณหภูมิที่ต่ำมาก เพื่อยืดเวลาของกระบวนการทางชีววิทยาที่จะเอาชนะความตายเพื่อการท่องเวลา โดยจะให้ตัวละครตื่นฟื้นขึ้นมาอยู่ในอีกยุคหนึ่งที่ไม่ใช่ยุคเดิม เจ้าของความคิดริเริ่มว่าด้วย “การนอนหลับ” แล้วตื่นขึ้นมาพบว่า “โลกเปลี่ยนแปลงไป” นี้ เห็นทีผู้เริ่มต้นจะต้องยกให้กับตาเฒ่า ริบ แวน วิงเกิล จากเรื่อง Rip Van Winkel ของวอชิงตัน เออร์วิง เมื่อปี 1819 ซึ่งกล่าวถึง ริบ แวน วิงเกิล เบื่อเมียขี้บ่น เลยหนีเข้าป่าไปพบกับกลุ่มคนประหลาดที่ให้น้ำอมฤตชนิดหนึ่งดื่ม แล้วเขาก็นอนหลับไปนานโข พอตื่นขึ้นมาก็พบตัวเองแก่ไปมาก หนวดเครายาวเฟื้อย คนรุ่นเดียวกันตายจากไปเกือบหมด และเหตุการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย

นักเขียนคนต่อมาที่ใช้กลวิธีให้ตัวละครนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาในอีกยุคหนึ่ง ก็คือ เอ็ดวาร์ด เบลลามี นักเขียนอเมริกาผู้เขียนวรรณกรรมเกี่ยวกับสังคม “ยูโทเปีย” ตามแนวความคิด “สังคมนิยมเฟเบียน” ในเรื่อง Looking Backward 2000-1887 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1888 กล่าวถึงตัวละครนอนหลับแล้วไปตื่นในสังคม “ยูโทเปีย” ค.ศ.2000 ที่ปราศจากชนชั้นและการกดขี่ขูดรีด

ปีถัดมา ค.ศ.1889 การเดินทางไปกับเวลาโดยกลวิธีการนอนหลับก็มี Connecticut Yankee in King Arthur’s Court ของมาร์ค ทเวน เล่าถึงตัวละครซึ่งใฝ่ฝันจะมีเครื่องมือเดินทางกลับสู่อดีต วันหนึ่งจึงนอนหลับแล้วไปตื่นขึ้นในยุคสมัยของกษัตริย์อาเธอร์ และถ้าคิดอยากจะกลับมาสู่ปัจจุบัน มาร์ค ทเวน ก็สร้างอารมณ์ขันด้วยวิธีง่ายๆ (แต่ทำยาก) คือตัวละครนอนหลับแล้วฝันถึงปัจจุบันเท่านั้น ก็จะเดินทางกลับมาได้

กลวิธีการนอนหลับเพื่อการท่องเวลาใน “นิยายวิทยาศาสตร์” ยุคกลาง เก่ากลางใหม่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ The Sleeper Awakes เขียนโดย เอช.จี.เวลส์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1899 เล่าถึง “แกรม” ตัวเอกของเรื่องนอนหลับไปนานกว่า 200 ปี “แกรม” รู้สึกเบื่อชีวิต เบื่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ค.ศ.1897 เขารู้สึกเหนื่อยจึงหลับพับไปเฉยๆ แต่เป็นการหลับในลักษณะที่เหมือนตกอยู่ในภวังค์ ตาค้าง ลมหายใจอ่อนเหมือนนถูกสะกดจิต เอช.จี.เวลส์ ไม่ได้อธิบายว่า ทำไม “แกรม” จึงนอนหลับไปได้นานมากกว่า 200 ปี โดยที่ยังมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนว่า เหตุผลในแง่หลักการทางวิทยาศาสตร์ของ เอช.จี.เวลส์ ในเรื่องนี้จะได้ศูนย์ แต่ทว่ากลวิธี “การเดินทางไปกับเวลา” ในแง่จินตนาการ และความคิดว่าด้วย “สังคมเฟเบียน” ของเขาได้ช่วยให้วรรณกรรมเรื่อง The Sleeper Awakes มีความเด่นขึ้นมาในแง่จินตนาการเกี่ยวกับโลกอนาคตที่เสื่อมโทรม มนุษย์ตกอยู่ในอำนาจเงิน และเป็นทาสความเลวร้ายต่างๆ นานา เนื้อหาของ “นิยายวิทยาศาสตร์” ที่กล่าวถึงโลกอนาคตในแง่ร้ายนี้มีศัพท์ที่วงการใช้เรียกเป็นต่างหากออกไป กล่าวคือเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สังคม ดีสโทเปีย (Distopia) ซึ่งตรงข้ามกับการเขียนถึงโลกอนาคตในแง่อุดมคติที่เต็มไปด้วยความบริบูรณ์พูนสุข ดุจดังโลกพระศรีอาริย์ การเขียนในเชิงนี้ ศัพท์ในวงการนิยายวิทยาศาสตร์ จะเรียกว่า สังคมยูโทเปีย (Utopia) อาทิเช่นเรื่อง Utopia ของเซอร์ โธมัส มอร์ Looking Backward ของ เอดวาร์ด เบลลามี แต่ถ้าหากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องใด กล่าวถึงโลกอนาคตที่สังคมสมบูรณ์พร้อม แต่ยังมีการต่อต้านจากคนในสังคมที่ไม่ต้องการระบบนั้น และปรารถนาจะดำเนินวิถีชีวิตตามแบบที่ตนเลือก เนื้อหาของเรื่องในลักษณะดังกล่าวนี้ จะมีศัพท์เรียกกันในวงการว่า นิยายวิทยาศาสตร์ประเภท ต่อต้านยูโทเปีย (Anti-Utopia) อาทิเช่นเรื่อง We ของ เยฟจินี เซมยาติ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ Brave New World (ฉบับแปลย่อใช้ชื่อว่า โลกวิไล) ของ อัลดัส ฮักซลีย์ Fahrenheit 451 ของ เรย์ แบรดเบอรี่ The Sheep Look Up ของ จอห์น บรูนเนอร์ The Space Merchants ของเฟรดเดอริค โพฮ์ล และ ซี. เอ็ม คอร์นบลูท Make Room ! Make Room ! ของ แฮรี่ ฮาริสัน (เรื่องเดียวกับหนังที่ใช้ชื่อว่า Soylent Green) Do Androids Dream of Electric Sheep ? ของ ฟิลิป เค. ดิ๊ก หรือ Logan’s Run ของวิลเลียม เอฟ. โนลัน และ จอร์จ เครย์ตัน จอห์นสัน ที่เคยเป็นหนังมาฉายบ้านเรา ก็จัดอยู่ใน “นิยายวิทยาศาสตร์” ประเภท ต่อต้าน ยูโทเปีย ทั้งสิ้น โดยไม่จำกัดว่าผู้เขียนนั้นจะใช้กลวิธี “การเดินทางไปกับเวลา” หรือกลวิธีอื่นใดก็ตาม

“ยานเวลา” ในนิยายวิทยาศาสตร์

“ยานเวลา” หรือ Time Machine เป็นเสมือน “เครื่องมือ” สำคัญประการหนึ่งของนักเขียน “นิยายวิทยาศาสตร์” มาทุกยุคสมัย เปรียบได้กับนักเขียนเรื่องตะวันตก (Western Stories) จะต้องมี “ม้า” และ “เคาบอย” เป็นเครื่องมือ นักเขียนเรื่องประเภทโรแมนซ์ (Romance Stories) มี “คฤหาสน์” “แบ่งมรดก” และการ “ชิงรักหักสวาท” เป็นเครื่องมือ นักเขียนเรื่อง “กำลังภายใน” มีสำนัก “บู๊ลิ้ม” และเพลง “วิทยายุทธ” ต่างๆ เป็นเครื่องมือ หรือแม้แต่นักเขียนเรื่อง “เพื่อชีวิต” แบบ Social Realism จะต้องมีตัวละครชนชั้นกรรมาชีพ กับปัญหา “ความทุกข์ยาก” นานัปการเป็นเครื่องมือ ดังนี้

“ยานเวลา” เป็นเครื่องมือในนิยายวิทยาศาสตร์ ที่มีผู้เขียนครั้งแรกมาตั้งแต่ ค.ศ.1881 เริ่มต้นจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง The Clock That Went Backward ของ เอ็ดวาร์ด เพจ มิตเชลล์ ชาวอเมริกัน เล่าถึงการใช้ “ยานเวลา” ในรูปของนาฬิกาที่ดูเหมือนชำรุดแล้ว แต่เมื่อเด็กสองคนนำมาไขลาน นาฬิกาเรือนนี้จะเดินย้อนหลังนำคนไขกลับไปสู่อดีตสมัยคริสตศตวรรษที่ 16

อย่างไรก็ตาม “ยานเวลา” ในนิยายวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นลักษณะ “แบบฉบับ” มากที่สุด เพราะสามารถเดินทางไปกับเวลาทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แล้วแต่ใจผู้เป็นเจ้าของยาน ก็เห็นจะได้แก่ผลงานเรื่อง Time Machine ของ เอช. จี. เวลล์ ที่เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ.1895 เล่ากันว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น เอช. จี. เวลล์ เขียนผลงานชิ้นนี้ไปลงพิมพ์ในนิตยสาร The Science School Journal มาตั้งแต่ปี 1888 โดยเขียนทยอยลงเป็นตอนๆ ใช้ชื่อครั้งแรกว่า The Chronic Astronauts งานชิ้นนี้ เอช. จี. เวลล์ รู้สึกผิดหวังและคิดว่าตนเองเขียนได้ไม่ดีนัก เขาจึงเลิกเขียนภายหลังจากเรื่องได้ลงพิมพ์ไปแล้วสามตอน อย่างไรก็ตาม เขายังติดใจหลักการเกี่ยวกับ “การเดินทางไปกับเวลา” ดังนั้น ใน ค.ศ.1894 เขาจึงนำเนื้อหาเดิมมาเขียนขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น The Time Traveller’s Story ส่งไปลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร The New Review และในปีรุ่งขึ้น เมื่อนำมารวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก เอช. จี. เวลล์ ก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งหนึ่งมาเป็น The Time Machine ผลงานชิ้นนี้เล่าถึงนักประดิษฐ์คนหนึ่งซึ่งประดิษฐ์ “ยานเวลา” ได้สำเร็จ และได้เดินทางไปสู่โลกอนาคตใน ค.ศ. 802701 ผจญภัยกับพวกมอร์ลอกส์ ผจญรักกับพวกอิลอย และเมื่อ “วีนา” สาวคนรักตาย นักเดินทางคนนี้ก็ได้บังคับ “ยานเวลา” ของเขาเดินทางไปสู่อนาคตจนกระทั่งเกือบถึงยุควาระสุดท้ายของโลก ซึ่งโลกทั้งโลกรกร้างว่างเปล่า ปราศจากสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ต่อจากนั้นก็ได้บังคับ “ยานเวลา” ให้เดินทางย้อนกลับมาสู่โลกปัจจุบันในยุคศตวรรษที่ 19 ที่เขามีชีวิตอยู่ เพื่อเล่าเรื่องผจญภัยให้คนอื่นๆ ฟัง แล้วก็ออกเดินทางไปกับ “ยานเวลา” อีกครั้ง โดยเลือกเวลาไปหยุดอยู่แค่ ค.ศ.8000 เพื่อจะได้พบกับ “วีน่า” และครองชีวิตอยู่กับ “วีน่า”… เรื่องก็เป็นอันจบ

อิทธิพลของ เอช. จี. เวลล์ ในการให้ลักษณะ “แบบฉบับ” เกี่ยวกับ “ยานเวลา” มีส่วนบันดาลใจให้นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ แสดงผลงานของตนออกมาแตกต่างกันไปแล้วแต่ “กลวิธี” ที่กำหนดขึ้น บางเรื่องก็ใช้วิธีการอื่นแล้วแต่จะจินตนาการ มิได้ใช้ “ยานเวลา” เป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดี การเติบโตของแนวเรื่อง “การเดินทางไปกับเวลา” ได้เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นในนิยายวิทยาศาสตร์สมัยใหม่โดยมี “แนวเรื่องย่อย” ดังนี้

(ใครอยากอ่านตอน 2 ต่อ กรุณาลงความเห็น)

Single Post Navigation

40 thoughts on “นิยายวิทยาศาสตร์ แนวเรื่อง “เวลา” และ “การเดินทางไปกับเวลา” ตอน 1

  1. อยากอ่านครับ ตื่นเต้นมาก ๆ !

  2. ตอนนี้กำลังศึกษา เรื่อง การเดินทางข้ามเวลา ทำเป็นวิจัย 5 บท ค่ะ

  3. ดีมากเลย

  4. ชอบมากๆเลยครับ

  5. อยากอ่านต่อจัง

  6. ชอบมากครับ

  7. สุดยอดครับ

  8. อยากอ่านมั๊กมาก

  9. อยากๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

  10. อยากครับ จีดมาเลย

  11. น่าติดตามๆ

  12. ดีมากครับ

  13. มีความรู้ดีมากครับ ขอบคุณ

  14. น่าติดตามมาก สนใจ

  15. สุดยอดครับ

  16. ได้ความรู้มากเลยค่ะ

  17. ในทางพระพุทธศาสนา กล่าวว่า เวลาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอยู่จริง

  18. I’d like to read Chapter 2. Thank you.

  19. เข้าใจง่ายค่ะ

  20. น่าสนุกดีครับ

  21. ได้แรงบันดาลใจเลย

  22. ชอบมากเลยครับ ขอบคุนครับ

  23. รัชชพร เหล่าวานิช on said:

    ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่เป็นความรู้

  24. ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่เป็นความรู้

  25. ขออ่านต่อด้วยคร้าบบบ

  26. ได้ความรู้ดีมากค่ะ

  27. เพิ่งทราบว่ามีคนรวบรวมเอาไว้ ขอบคุณเจ้าของบล็อกมากค่ะ

  28. น่าสนใจค่ะ

  29. เรื่องราวเกี่ยวกับเวลาในอีบุ๊คเล่มนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน… http://ebooks.in.th/ebook/4636/

  30. ขอบคุณมากมาก กำลังต้องการศึกษาเลย

  31. ธนาภรณ์ พรมจินดา on said:

    น่าสนใจมากค่ะ

  32. สุดยอดครับ

ส่งความเห็นที่ กุ้ง ยกเลิกการตอบ